ความรู้เกี่ยวกับการแปล
1. ความหมายของการแปล
2. รูปแบบ/ชนิด/ประเภทของการแปล
3. ความสำคัญของการแปล
4. หลักการแปล
5. กระบวนการ/ขั้นตอนในการแปล
6. คุณสมบัติของนักแปลที่ดี
7. การวิเคราะห์ข้อผิดพลาดในการแปล
1. ความหมายของการแปล
พจนานุกรมฉบับราชบัญฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า “แปล”
ซึ่งเป็นคำกริยาไว้ 2 ความหมาย ดังนี้
1) ถ่ายทอดความหมาย
จากภาษาหนึ่ง มาเป็นอีกภาษาหนึ่ง
2) ทำให้เข้าใจความหมาย
พจนานุกรม นิวเวบสเตอร์
ได้ให้ความหมายเกี่ยวกับการแปลในเรื่องของภาษาไว้ดังนี้
translate : “to render into another
language ; to interpret ; to explain by using other words; to express in other terms” ซึ่งอาจสรุปได้ว่า การแปล คือ
1) การถ่ายทอดข้อความจาก ภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่ง
2) การตีความหมายหรือการทำให้เข้าใจความหมาย
3) การอธิบายโดยใช้ถ้อยคำสำนวนอย่างอื่น
นักปราชญ์ด้านการแปลต่างๆ
ได้ให้ความหมายของการแปลไว้ ดังนี้
จอห์น วายคลิฟ (John Wycliffe) กล่าวว่า การแปล คือ
การแปลประโยคให้ได้ความ
ชัดเจนโดยใช้ภาษาของคนสามัญมาร์ติน
ลูเธอร์ (Martin Luther) กล่าวว่า
การแปล คือ
การสามารถถ่ายทอดวิญญาณต้นฉบับ โดยสามารถทำให้สามัญชนเข้าใจได้
ยูจีน ไนดา (Eugene A. Nida) ผู้เชี่ยวชาญทฤษฎีการแปลชาวอเมริกัน
กล่าวว่า การแปล คือ การถ่ายทอดความหมายของข้อความจากภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่ง
โดยรักษารูปแบบของข้อความไว้ได้ตรงตามต้นฉบับ
ดานิกา เซเลสโกวิตซ์ (Danica Seleskovitch) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการแปล
และการสอนวิทยาการแปล กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการแปลมี 3 อย่าง
ได้แก่ ข้อความ ความหมายแฝง และการถ่ายทอดความหมายออกมาเป็นภาษาแปลตามธรรมชาติ
สรุป การแปล (Translation) คือ
การถ่ายทอดความหมายจากภาษาต้นฉบับไปเป็นอีกภาษาหนึ่งและให้ความหมายเท่ากัน
หรือใกล้เคียงกับภาษาต้นฉบับมากที่สุด
Mildred L. Larson ได้สรุปเกี่ยวกับการแปลว่า
ผู้แปลจะประสบความสำเร็จในงานแปลก็ต่อเมื่อ
ผู้อ่านไม่ทราบเลยว่ากำลังอ่านงานแปล
แต่คิดว่ากำลังอ่านข้อเขียนในภาษาของตนเพื่อความรู้และความบันเทิง
2. รูปแบบ/ชนิด/ประเภทของการแปล
รูปแบบของการแปล อาจแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
1. การแปลตามรูปของภาษา
(Form) หรือ การแปลตรงตัว/การแปลตามตัวอักษร (LiteralTranslation)
เป็นการแปลที่พยายามรักษาความหมายและโครงสร้างของต้นฉบับไว้มากที่สุด
มุ่งความถูกต้องแม่นยำเป็นหลัก แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้าง (Structure)
และการใช้คำเพื่อให้เป็นไปตามหลักการใช้ภาษาของภาษาฉบับแปล
การแปลลักษณะนี้ใช้ในกลุ่มนักวิชาการหรือกลุ่มเฉพาะอาชีพที่ต้องการความถูกต้องของ
สาระข้อเท็จจริง เพื่อจุดประสงค์ในด้านการศึกษาค้นคว้าหรือการนำไปปฏิบัติเช่น
การแปลฉลากยา ขั้นตอนการทดลอง คู่มือปฏิบัติการ กฎหมายสนธิสัญญาระหว่างประเทศ
รายงานและเอกสารราชการ
2. การแปลตามความหมาย (Meaning)
หรือ การแปลสรุปความ (Free Translation) เป็นการแปลที่ไม่ได้มุ่งรักษาโครงสร้าง
ตามความหมายหรือรูปแบบของต้นฉบับอย่างเคร่งครัด มีการโยกย้ายขยายความ หรือตัดทอน
หรือเปลี่ยนแปลงรูปคำหรือไวยากรณ์ การแปลลักษณะนี้นิยมใช้กับเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องรักษาความถูกต้องของต้นฉบับ
เป็นการแปลที่ใช้ในสื่อมวลชนทุกประเภทโดยเฉพาะเพื่อความบันเทิง
ผู้แปลอาจอ่านจบทีละย่อหน้า ทำความเข้าใจกับเนื้อหา วิธีคิด
จุดมุ่งหมายของผู้เขียน และสิ่งที่ละไว้ในฐานที่เข้าใจ
เมื่อสรุปเนื้อหาหลักของต้นฉบับแล้วจึงถ่ายทอดออกมาโดยเรียบเรียบใหม่
และการแปลลักษณะนี้เป็นการแปลที่นิยมแพร่หลาย ตัวอย่างของการแปลลักษณะนี้ คือ
การแปล นวนิยายเรื่องสั้นนิทาน บทวิทยุ โทรทัศน์
การแปลทั้ง 2 ชนิด มีความจำเป็นต้องเรียนรู้
เพื่อพัฒนาการแปลให้มีความแม่นยำและสละสลวยมากที่สุด การแปลแม้จะสละสลวย
ก็ไม่ถือว่าสมบูรณ์ ถ้าเนื้อหาผิดไปจากเนื้อหาเดิม
ส่วนการแปลที่เนื้อหาดีแต่ไม่สละสลวยถือว่าดีกว่า
เพราะผู้อ่านสามารถได้รับเนื้อหาจากต้นฉบับได้ตรงตามเนื้อหาเดิม
3. ความสำคัญของการแปล
ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่นำมาถ่ายทอดเป็นภาษาต่าง
ๆ มากที่สุดในโลก โดยเฉพาะการถ่ายทอดเป็นภาษาไทย
เพราะแหล่งความรู้สมัยใหม่มักเขียนเป็นภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษากลาง การสื่อสารต่าง
ๆล้วนให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษ เช่น Internet ภาพยนตร์ จดหมายสมัครงาน การสัมภาษณ์งาน การเจรจาธุรกิจ การทำสัญญาต่างๆ
ภาษาอังกฤษจึงเป็นกุญแจสำคัญที่ใช้เปิดประตูเข้าสู่โลกแห่งความรู้
เช่นการอ่านตำราภาษาอังกฤษ การสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้กับชาวต่างประเทศ
ดังนั้นการแปลจึงมีความสำคัญตามไปด้วยเพราะจำเป็นต้องถ่ายทอดข้อมูลมาเป็นอีกภาษาหนึ่ง
4. หลักการแปล /
ลักษณะของภาษาในงานแปลที่ดีการแปลให้ได้ทั้งความถูกต้องและสำนวนที่ไพเราะ
อาจยึดหลักการแปลง่าย ๆ 4 ประการ ดังนี้
1. มีความชัดเจน
คือเป็นภาษาที่มีลักษณะกระชับ ไม่ใช้คำที่ไม่จำเป็น รูปประโยคควรเป็นประโยคสั้น ๆ
หลีกเลี่ยงโครงสร้างประโยคที่ซับซ้อน
มีการใช้ข้อความที่ถ่ายทอดความคิดได้แจ่มแจ้งเช่น ประโยคเดียวแสดงความคิดเดียว ไม่กำกวมหรือชวนให้ตีความได้หลายแง่หลายมุม
2. ใช้ภาษาได้เหมาะสม
ผู้แปลต้องเลือกใช้ลีลาการเขียนให้สอดคล้องกับลักษณะของเรื่องที่จะแปล เช่น
การแปลนวนิยายอาจใช้สำนวนให้เกิดภาพพจน์
การแปลงานด้านกฎหมายหรือการแพทย์ต้องใช้ศัพท์เฉพาะ และลีลาการเขียนที่สั้น ๆ
ไม่ใช้คำหรูหราหรือสำนวนอ้อมค้อม
3. ใช้ภาษาเรียบง่าย
ใช้ภาษาที่เรียบง่ายและสัมพันธ์กับความคิดที่กระจ่างแจ้งและตรงตามต้นฉบับ
4. มีความสมเหตุสมผล
ในแต่ละภาษา มีความสมเหตุสมผลต่างกัน ดังนั้น
ภาษาที่ใช้ในการแปลต้องมีความสมเหตุสมผลเท่า ๆ กับภาษาต้นฉบับด้วย
5. กระบวนการ /
ขั้นตอนการแปล (Steps in Translation)เพื่อให้ได้ผลงานที่ดี
ตรงกับความต้องการ การแปลควรดำเนินตามขั้นตอน ดังนี้
1. กำหนดวิธีการแปล
เมื่อได้งานที่จะแปล ให้กำหนดวิธีการแปลที่เหมาะกับเนื้อหานั้นให้มากที่สุด
ถ้าวิธีการแปลไม่เหมาะสมกับงาน อาจได้ผลงานไม่ดี หรือไม่ตรงกับความต้องการ
2. ถ่ายทอดเป็
นประโยคพื้นฐาน การถ่ายทอดเป็นประโยคพื้นฐานจะทำให้แปลง่ายและ
เข้าใจง่าย
โดยผู้แปลต้องทำความเข้าใจต้นฉบับเป็นอย่างดี สามารถแยกออกเป็นประโยคสั้นๆ ได้
3. เรียบเรียงประโยคใหม่
เมื่อได้ประโยคพื้นฐานแล้ว
ก็ดัดแปลง/ตัด/ต่อเติมเพื่อให้ได้ประโยคที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ได้ภาษาที่สละสลวย
เหมาะสมกับประเภทของงาน
4. ปรับปรุงแก้ไข
สำรวจผลงานอีกครั้ง เพื่อปรับปรุงแก้ไขดัดแปลงจนกว่าจะพอใจ
6. คุณสมบัติของนักแปลที่ดี
1. ผู้แปลต้องเข้าใจนัย
(sense) และความหมาย (meaning) ของผู้เขียนต้นฉบับเป็นอย่างดีว่าผู้เขียนมีจุดประสงค์อย่างไร
ต้องการจะให้อะไรกับผู้อ่าน เพื่อจะได้ถ่ายทอดจุดประสงค์นั้น ๆ
ไปยังผู้อ่านฉบับแปลได้ถูกต้อง
2. ผู้แปลต้องมีความรู้ทั้งภาษาต้นฉบับและภาษาฉบับแปลอย่างดีเยี่ยม
เพื่อจะให้แปลได้อย่างถูกต้อง
3. ผู้แปลควรพยายามเลี่ยงการแปลคำต่อคำอย่างที่สุด
มิฉะนั้นจะทำให้ผู้อ่านฉบับแปลไม่สามารถเข้าใจฉบับแปลได้
4. ผู้แปลควรใช้รูปแบบของภาษาที่เป็นมาตรฐาน
เป็นที่ยอมรับ และใช้กันทั่วไป ไม่ใช่คิดคำสแลงใหม่ ๆ ขึ้น หรือใช้คำที่ไม่สุภาพไม่เป็นที่นิยม
5. ผู้แปลต้องรู้จักเลือกใช้ถ้อยคำสำนวนที่เหมาะสม
ให้ถูกต้องกับความหมายตามต้นฉบับและรักษาบรรยากาศ (tone) ของต้นฉบับไว้
สรุป
ผู้แปลต้องเข้าใจภาษาทั้งสองเป็นอย่างดี คือทั้งภาษาต้นฉบับและภาษาฉบับแปล
ต้องมีความรู้และภูมิหลังในเรื่องที่จะแปลพอสมควร
ต้องมีความสามารถในการใช้ภาษาเป็นอย่างดีเพื่อจะได้ถ่ายทอดความคิดของผู้เขียนต้นฉบับให้ผู้อ่านฉบับแปลรู้เรื่อง
เข้าใจและอ่านได้อย่างอรรถรส
ข้อ มูลจาก http://www.onec.go.th/publication/acceleration/Acceleration%20Program.pdf
7. การวิเคราะห์ข้อผิดพลาดในการแปลของผู้เรียนในการแปล
ผู้เรียนจะต้อง
1. มีความละเอียดรอบคอบ
2. สามารถอ่านแล้วจับใจความและตีความได้
3. แม่นยำในไวยากรณ์และโครงสร้างประโยคทั้งภาษาต้นฉบับและภาษาแปล
4. มี “ความไว” ต่อภาษา สามารถจับลีลา น้ำเสียง
และท่วงทำนองของภาษาต้นฉบับ แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาแปลได้อย่างครบถ้วน
5. มีความรับผิดชอบต่องานแปลที่ตนผลิตขึ้น
เพราะมักพบว่าผู้แปลมักตัดข้อความออกหรือเติมข้อความเอง
โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากการแปลปัญหาในการแปลของผู้เรียนคือ
แปลข้อความผิดไปจากต้นฉบับเดิม
สาเหตุของการแปลผิด อาจจำแนกได้ 3 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
(1) ความผิดพลาดอันเกิดจากการอ่านต้นฉบับไม่เข้าใจ
จับใจความไม่ได้ ตีความไม่ถูกต้องซึ่งเกิดจากสาเหตุคือ
1.1
ผู้เรียนไม่สันทัดในไวยากรณ์และโครงสร้างประโยค
1.2
ผู้เรียนขาดภูมิหลังและความรอบรู้ในเรื่องที่ตนแปล แต่มิได้ศึกษาเพิ่มเติม
1.3
ผู้เรียนไม่เข้าใจคำศัพท์และสำนวน โดยเฉพาะคำศัพท์ที่มีความหมายหลายนัย
ทำให้แปลไม่เข้ากับบริบท
(2) ความผิดพลาดอันเกิดจาการใช้สำนวนภาษา
ได้แก่ การแปลไม่สละสลวย สำนวนต้องขัดเกลา ลีลา น้ำเสียง
และท่วงทำนองไม่สอดคล้องกับต้นฉบับ ตลอดจนการเลือกใช้คำ ที่ “อ่อน”เกินไป หรือ “เข้ม”
เกินไป สำหรับคำต่าง ๆ ที่มีระดับความหมายต่างกัน
(3) ความผิดพลาดอันเกิดจากการตัดข้อความที่สำคัญและการต่อเติมข้อความ
จนทำให้ความหมายผิดไปจากต้นฉบับนอกจากนี้ยังมีความผิดพลาดอื่น ๆ เช่น ตัวสะกด
การถ่ายทอดชื่อต่าง ๆ ให้เป็นตัวอักษรไทยเป็นต้น(ดัดแปลงจาก สุพรรณ ปิ่นมณี. 2535.
การแปล. คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)__
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น